ตัวอย่างบทความเชิงวิชาการ

เกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการทำเกษตร ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลของธรรมชาติทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวงจรของธรรมชาติ ทั้งสุขภาพของดิน น้ำ ภูมิอากาศ จึงมีกระบวนการผลิตที่ให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศ  โดยปราศจากการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน

.          การไม่ใช้สารเคมีใดๆในกระบวนการผลิตนี้เอง เป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์โดยผู้ผลิตนั้นจะต้องมีจิตสำนึกที่ดีต่อการห่วงใยสุขภาพของทั้งตนเองและผู้อื่น รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ สัตว์ อากาศ สรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทุกอย่าง เพราะหากมีการใช้สารเคมีแม้เพียงนิดเดียว จะไม่ถูกเรียกว่า “เกษตรอินทรีย์”  เนื่องจากสารเคมีทำให้ขาดความสมดุลในธรรมชาติ แล้วระบบการพึ่งพาอาศัยของธรรมชาติ วงจรที่ควรจะเป็นไปอย่างธรรมชาติก็จะไม่เกิดขึ้น

.          ด้วยเหตุนี้เอง เกษตรกรที่จะทำการผลิตพืชผลโดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์นั้นในปีแรกๆจะต้องมีการลงทุนลงแรงเกี่ยวกับสภาพดินให้กลับฟื้นคืนมามีความอุดมสมบูรณ์เสียก่อน  เพราะดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืช ซึ่งการฟื้นฟูดินนั้นจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกในอัตราที่สูงมากๆ ซึ่งต้องทำติดต่อกันเป็นระยะเวลานานประมาณ 3-4 ปี เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้แก่ดิน จนดินมีลักษณะร่วนซุย จากนั้นจึงค่อยๆลดปริมาณของปุ๋ยลง จากการที่ดินเกิดความอุดมสมบูรณ์นี้เองจะเห็นได้ว่า สัตว์เล็กๆต่างๆจะเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในดิน นั่นแสดงให้เห็นถึงกระบวนการพึ่งพากันตามหลักธรรมชาติแล้ว และความสมดุลของธรรมชาติก็จะคืนกลับมาเมื่อมีการพึ่งพากัน

.          ระยะเวลาของการทำเกษตรอินทรีย์ที่ค่อนข้างยาวนานนี้เอง เป็นเหตุให้เกษตรกรจำนวนมาก ไม่ได้ใช้หลักเกษตรอินทรีย์เพราะไม่สามารถรอเวลาให้ผลผลิตได้ จึงมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลของการผลิต แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ กระบวนการพึ่งพากันตามหลักธรรมชาติเริ่มถดถอยลง ซึ่งจะเห็นได้ว่า พื้นที่ใดที่ใช้สารเคมีในการเร่งผลการผลิต จะไม่ปรากฏสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาอาศัย หรือที่เคยอาศัยก็หายไป ในคราวต่อไปที่จะทำการเกษตรโดยการเพาะปลูกพืชไม่ว่าจะเป็นชนิดเดิมหรือชนิดอื่น การเพาะปลูกจะไม่ได้ผล ผลผลิตก็ลดต่ำลง นั่นก็เพราะ สภาพของดินที่ไม่สมดุล

แนวทางเกษตรอินทรีย์

.          สำหรับแนวทางของเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ คือ การเน้นการทำเกษตรแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงความสำคัญของระบบนิเวศต่างๆ ซึ่งย่อมมีความแตกต่างจากเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นในการเพิ่มผลิตเป็นสำคัญ คือมองเพียงด้านเดียวเท่านั้น  โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หากแต่การทำเกษตรอินทรีย์นั้นจะคำนึงถึงองค์ประกอบโดยภาพรวม เช่น การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำ เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริงต้องอาศัยกระบวนการทางระบบนิเวศในการผลิต เป็นผลให้การทำเกษตรอินทรีต้องปราศจากการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น สารเคมีที่จะใช้ในการกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ยเคมีก็ตาม เพราะเหตุที่ว่า สารเคมีต่างๆเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำลายระบบนิเวศโดยตรง

.          นอกจากนี้แนวทางของการทำเกษตรอินทรีย์นั้น ก็เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นแก่ธรรมชาติ ทั้งในส่วนของวงจรของธาตุอาหาร การประหยัดด้านพลังงาน รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ

.          หากแต่การทำเกษตรอินทรีย์ ก็มิได้ปฏิเสธการทำเกษตรเพื่อการค้า เพราะต้องอาศัยผลจากการผลิตเพื่อการดำรงชีพ เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเรียนรู้การฟื้นฟูระบบนิเวศเป็นสำคัญ ซึ่งก็คือ การฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งตนใช้ทำกินทั้งในเรื่องของสภาพดิน น้ำ จึงจัดว่าการทำเกษตรอินทรีย์นั้น ต้องใช้ปัญญาร่วมด้วย เนื่องจากต้องศึกษาทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ  ลักษณะของดิน ณ บริเวณพื้นที่นั้นๆที่ตนจะต้องทำกิน รวมไปถึง เศรษฐกิจสังคมที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างไรบ้าง เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ที่ทำเพื่อการค้าแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีการศึกษาถึงสภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆด้วย

.          แนวคิดของเกษตรอินทรีย์โดยพื้นฐานจึงได้มุ่งเน้น การทำเกษตรเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติพร้อมๆไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จึงเน้นที่การผลิต ให้มีความสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ แต่ต้องมีการประยุกต์เพื่อให้มีการปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศเป็นสำคัญ  เช่น การสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเพาะปลูก เป็นต้น

เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

สำหรับเกษตรอินทรย์ในประเทศไทยนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกันคือ

1.เกษตรอินทรีย์แบบพึ่งพาตนเอง ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นเกษตรแบบพื้นบ้านอย่างที่เราเห็นกันโดยทั่วไปตามต่างจังหวัดที่ทำเฉพาะในครัวเรือน เช่น การปลูกพืชสวนครัวหลังบ้านเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร หรือเป็นการรวมกลุ่มกันเองของคนในหมู่บ้านทำแปลงผักเล็กๆไว้บริโภค ส่วนที่เหลือจากการบริโภคก็จำหน่ายในตลาดใกล้บ้าน ซึ่งเกษตรอินทรีย์ในแบบพึ่งพาตนเองนั้น ไม่ได้มีการรับรองมาตรฐานจากทางหน่วยงานแต่อย่างใด

2.เกษตรอินทรีย์ที่มีการรับรองมาตรฐาน เกษตรอินทรีย์ในรูปแบบนี้ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อให้มีผลผลิตที่จำนวนมากขึ้นซึ่งไม่ใช่เฉพาะบริโภคภายในครอบครัวเท่านั้นแต่ต้องสามารถขายได้ ทั้งในตลาดท้องถิ่นเองหรือส่งออกไปยังนอกพื้นที่ ทว่าเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบที่สองนี้ เกษตรกรให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก เพราะมีเรื่องรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะเป็นในลักษณะของผู้เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ที่ถูกจัดทำจากภาคเอกชนเป็นหลัก  ซึ่งในส่วนของเกษตรกรเองนั้นจะต้องมีการจัดวางแผนงานการผลิตพืชผลต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่มีการรับรอง ขณะเดียวกันก็จะมีการประกันในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับภาคเอกชนนั้นๆอีกด้วยด้วย

บทความเชิงวิชาการเกษตรอินทรีย์